Color stain สีที่ใช้กับงานเซรามิก
สีน้ำใช้กับงานเซรามิกได้ไหม แล้วสีอะคริลิคที่เนื้อสีดูแน่นๆ ล่ะใช้ได้หรือเปล่า เอ...สมัยก่อนที่วิวัฒนาการยังไม่ก้าวหน้า มนุษย์เราใช้สีแบบไหนกับภาชนะหรือเครื่องประดับกันละเนี่ย??
สีสันทั้งหลายที่เห็นบนเครื่องเคลือบ หรือเครื่องปั้นดินเผาในอดีตทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถให้สีได้ แต่สีเหล่านั้นไม่ติดแน่นทนทานนานปี เพราะมาจากธรรมชาติก็ย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาที่ธรรมชาติกำหนด แต่เพราะมนุษย์ไม่หยุดคิดค้น ก็เลยค้นจนเจอสารที่ทำให้สีคงทนไม่เปลี่ยนแปลง แถมเจอความร้อนอุณหภูมิสูงๆ ก็ไม่หวั่น นอกจากนี้ยังค้นพบความพิเศษในระหว่างการเผาที่ทำให้ได้สีที่ต่างกันออกไปอีกมากมาย เครื่องเคลือบดินเผาที่ได้ก็เลยไม่มีสีไหนซ้ำกัน
อ้าว...แล้วถ้าอยากได้แบบที่นอกจากขนาดและรูปร่างจะเหมือนกัน จะทำให้มีสีเหมือนกันเป๊ะๆ ได้ไหม การปรับปรุงวัตถุดิบที่ใช้สำหรับให้สีจึงเกิดขึ้น และ “เทคโนโลยีการผลิตสีเซรามิกหรือสีสะเตน (Stain Color)” จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเราสามารถแบ่งชนิดของสีเซรามิกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามการใช้งานคือ สีเซรามิกสำหรับใช้ในเคลือบ (Glaze Stain) และ สีเซรามิกสำหรับใช้ในเนื้อดิน (Body Stain)
ความแตกต่างของสีเซรามิก 2 ประเภทนี้อยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต โดยสีเซรามิกสำหรับใช้ในเนื้อดิน ใช้วัตถุดินที่มีราคาถูกกว่าและมีชนิดของวัตถุดิบไม่มากนัก เนื่องจากในตัวของเนื้อดินไม่มีออกไซด์ที่จะทำให้สีเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะส่วนใหญ่ในเนื้อดินจะมีเพียงพวกอัลคาไลน์ออกไซด์ ซิลิกา อลูมิน่า ซึ่งมีผลกระทบต่อตัวสีน้อย จึงไม่ต้องการชนิดของออกไซด์มากนักในการผลิตสีเซรามิกสำหรับใช้ในเนื้อดิน
แต่สำหรับสีเซรามิกสำหรับเคลือบนั้นสามารถใช้เป็นสีใต้เคลือบ (Underglaze), สีบนเคลือบสำหรับตกแต่ง (On glaze) และเป็นสีที่ใช้ในเคลือบ (In glaze) ได้ เพียงแต่อุณหภูมิและบรรยากาศที่จะใช้งานนั้นจะขึ้นกับส่วนประกอบของสี รวมทั้งวัตถุดิบที่จะใช้ทำเคลือบก็จะต้องดูให้เหมาะสมกับส่วนประกอบของสีสะเตนที่จะเลือกใช้ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพของสีเคลือบได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากเลือกสีที่ไม่เหมาะกับสูตรเคลือบก็จะทำให้สีเพี้ยนไปไม่คงที่หรือจะต้องใช้สีในปริมาณมากขึ้นทำให้ต้นทุนของสีเคลือบสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น