“ออกไซด์” เกี่ยวยังไงกับงานเซรามิก
ออกไซด์ คืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับเรื่องของงานปั้น วันนี้ Pottery Clay จะนำเรื่องนี้มาเล่าให้รู้กันค่ะ
ออกไซด์ คือสารประกอบทางเคมีที่ใช้ในการผสมในน้ำเคลือบเซรามิกเพื่อทำให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอุณหภูมิของการเผาเคลือบ ลักษณะพื้นผิวเคลือบ สีเคลือบ รวมไปถึงลักษณะพิเศษต่างๆ เช่นการทำให้เคลือบรานหรือเกิดผลึก ซึ่งออกไซด์ก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ออกไซด์ที่ทำให้ทึบแสง อย่างดีบุกออกไซด์ (Tin), ไทเทเนี่ยมไดออกไซด์ (Titanium) ออกไซด์ที่ทำให้ทึบด้าน ได้แก่ เซอโคเนียมออกไซด์ (Zirconuim) ออกไซด์ที่ทำให้เกิดผลึก คือซิงออกไซด์ (Zinc oxide) และออกไซด์ที่ทำให้เกิดสี ก็คือเฟอริคออกไซด์ (Ferric) และโคบอลต์ออกไซด์ (Cobalt)
เรื่องของปริมาณก็สำคัญนะคะ เพราะปริมาณที่มากน้อยของออกไซด์จะทำให้ได้ผลต่างกัน เช่น หากใช้ซิงออกไซด์ (Zinc ) ที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดผลึกในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เคลือบรานเกิดเป็นตำหนิของเคลือบบนเซรามิก เป็นต้น ดังนั้นจึงควรศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของปริมาณของสารต่างๆ ที่ใช้ในสูตรน้ำเคลือบให้เหมาะกับจุดประสงค์ของนักปั้นเสมอ
สิ่งที่ควรระวังรวมถึงควรรู้ก่อนจะใช้งานงานออกไซด์คือ ออกไซด์จะขายในตลาดในรูปแบบผงละเอียดมาก จึงสามารถลอยฟุ้งในอากาศ จึงควรเก็บไว้ในภาชนะมีฝาปิดมิดชิดและสวมหน้ากากปิดปากและจมูกเสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงไม่ควรสัมผัสโดยตรงเพราะออกไซต์บางตัวก็เป็นพิษต่อร่างกาย ถุงมือจึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรลืมใส่ก่อนใช้งานออกไซด์เสมอ
นอกจากนี้สิ่งที่ควรระลึกถึงเสมอคือ สารเคมีที่เป็นพิษและไม่ควรใช้ในสูตรน้ำเคลือบสำหรับเคลือบภาชนะบรรจุอาหาร ได้แก่ แบเรียมออกไซต์, ซิงออกไซด์, ตะกั่วออกไซด์, แคดเมียมออกไซด์, นิเกิลออกไซด์, โคบอลต์ออกไซด์ที่เกิน 5 % แต่เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า เมื่อเผาเคลือบจนกลายเป็นเนื้อแก้วแล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่จริงๆ แล้วอาหารมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนก็สามารถทำให้สารเคมีออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้