ทอง แพลตตินั่ม เงิน แร่ธาตุที่ให้มากกว่าสีสวยหรู
ทอง แพลตตินั่ม เงิน คือแร่ธาตุ 3 ชนิดที่นักปั้นมือใหม่ควรทำความรู้จัก เพราะไม่เพียงแต่ให้สีสวยๆ ในตัวของมันเองแล้ว ชิ้นงานที่ออกมายังแฝงความหรูหราดูดีและดูมีมูลค่ามากขึ้น นอกยังนี้แร่ธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้ยังสามารถนำไปประกอบกับสารตัวอื่นๆ เพื่อให้ได้สีมากขึ้นอีกด้วย
แร่ธาตุทอง (Au) > ใช้ได้ทั้งการนำไปเขียนบนภาชนะที่เคลือบแล้วในลักษณะของน้ำทองสำหรับใช้งานเบญจรงค์ และยังสามารถใช้เป็นสารที่ทำให้เกิดสีม่วง สีม่วงแดง สีชมพูและสีแดงทับทิม โดยแร่ธาตุทองถูกนำมาใช้บนผลิตภัณฑ์ครั้งแรกโดยโรงงานไมเซน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1830 ต่อมาอีก 21 ปี ประเทศฝรั่งเศสได้จดลิขสิทธิ์ในการผสมน้ำทองในรูปแบบของเหลว โดยสีทองชนิดมันวาวในน้ำทองจะมีทองอยู่ประมาณ 12% ซึ่งละลายอยู่ในเรซินสารละลายทอง มีให้เลือกหลายชนิดทั้งชนิดด้านและชนิดมันวาว
แร่ธาตุแพลตตินั่ม (Pt) > ใช้เขียนตกแต่งบนภาชนะที่ผ่านการเคลือบแล้ว เพราะเป็นแร่ธาตุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน นักปั้นสามารถใช้แพลเลเดียมผสมแพลตตินั่ม เพื่อให้มีสีเงินที่นอกจากจะให้ความแวววาวยิ่งขึ้น ยังคงความเงินวาวนั้นได้ยาวนานคงตัว นอกจากนี้แร่ธาตุแพลตตินั่นยังให้สีเทาในน้ำเคลือบได้ด้วย เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ เพราะราคาค่อนข้างสูง นักปั้นส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วัตถุดิบชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาใช้ในการเตรียมเคลือบสีเทาแทนแพลตตินั่ม
แร่ธาตุเงิน (Ag) > มีคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือ รวมตัวกับออกซิเจนได้ง่าย ทำให้กลายเป็นสีดำหมองคล้ำ โดยเงินออกไซด์ให้สีเหลืองในเคลือบอุณหภูมิต่ำที่ไม่มีหินปูนและซิงค์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีหินปูนและสิ่งจะกลายเป็นสีน้ำตาลแทนที่ ซึ่งหากทาเงินออกไซด์บนเคลือบแล้วนำไปเผาในบรรยากาศรีดักชันจะได้เคลือบสีประกายมุก
ทั้งนี้การเตรียมสีบนเคลือบประเภทสีประกายมุกสีเหลือง จะใช้เผาในบรรยากาศรีดักชันรุนแรงจากอุณหภูมิ 300-700 °C หลังเผาต้องขัดดินออกจึงได้ประกายมุกฉาบบนผิวเคลือบสีขาวทึบ แต่สีประกายมุกในปัจจุบัน เกิดจากตะกั่วบอเรต (Lead borate) บิสมัทออกไซด์และเงินคลอไลน์หรือเงินคาร์บอเนตในรูปสารละลายกับยางเรซินที่อุณหภูมิ 650-700 °C ในบรรยากาศออกซิเจน