กว่า 400 ปี กับการถือกำเนิดเครื่องถ้วยรากุ
นับจากศตวรรษที่ 1550-1850 พิธีชงชาเป็นสิ่งสำคัญและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาคู่กับพิธีชาคือ ถ้วยชา ซึ่งในช่วงแรกถ้วยชาเท็มโมกุนำเข้าจากจีนคู่กับภาชนะจากเกาหลี ต่อมาช่างปั้นชื่อ โชจิโร ได้รับมอบหมายให้ผลิตเครื่องถ้วยรากุ (Raku Ware) นับตั้งแต่นั้นมา เครื่องถ้วยหลายประเภทได้ถูกนำมาเป็นภาชนะที่เกี่ยวกับชา และมีคำกล่าวของชาวญี่ปุ่นในยุคก่อนว่า “Raku first, Hagi second, Karatsu third” นั่นหมายถึง เครื่องถ้วยรากุได้รับการยอมรับว่าเป็นถ้วยชาที่สมบูรณ์แบบที่สุด
เครื่องถ้วยรากุมีการใช้ลักษณะร่วมกันจากเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสามสีในราชวงศ์ถัง เครื่องปั้นดินเผาเปอร์เซียยุคต้นๆ และเครื่องปั้นดินเผามาจอลิกาของอิตาลี โดยเทคนิคการเผาและเคลือบรากุนั้นสันนิษฐานได้ว่าพัฒนามาจากเทคนิคในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสามสีในราชวงศ์ถังยังคงรุ่งเรืองมาถึงอาณาจักรฟูเจี้ยนในศตวรรษที่ 12 และ 13 ซึ่งต่อมารูปร่างและการเผารากุยังคงมีการพัฒนาเทคนิคการผลิตอย่างต่อเนื่อง
เทคนิคของถ้วยชารากุส่วนใหญ่จะขึ้นรูปด้วยมือและเผาในเตาที่มีการออกแบบเป็นลักษณะพิเศษ ถ้วยชารากุอาศัยการขึ้นรูปด้วยมือจากดินแผ่นเป็นเทคนิคซึ่งทั่วโลกรู้จักกันดีตั้งแต่สมัยโบราณ แต่การทำถ้วยชารากุจะมีวิธีการทำซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวเริ่มแรกต้องตบดินให้เป็นแผ่นวงกลมแบน จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างค่อยๆประคองหรือบีบดินเข้ามาทำให้เกิดรูปทรงถ้วยชาโดยที่ดินยังอยู่ภายในฝ่ามือและทำการตกแต่งขอบถ้วยที่นูนขึ้นมาให้เรียบร้อยบนไม้กระดานวงกลม แตกต่างจากการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนที่ทำให้ดินเกิดเป็นรูปทรงได้จากการดึงดินจากศูนย์กลางออกสู่ด้านนอก แต่รากุจะใช้ดินแผ่นกลมบีบจากภายนอกเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อทำให้เกิดรูปทรง
เครื่องถ้วยรากุเป็นเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ แต่ในกรณีเครื่องถ้วยรากุสีดำจะใช้อุณหภูมิในการเผาสูงกว่า 1200 องศาเซลเซียส จึงไม่อาจสรุปได้ว่าเครื่องถ้วยรากุเป็นเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำได้
เครื่องถ้วยรากุแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือรากุสีดำและรากุสีแดง บางครั้งก็เคลือบ 3 สีคือขาว เขียวและเหลือง นำมาประยุกต์เข้ากันตั้งแต่เทคนิคการเผารากุสีแดงและขาว เขียวและเหลือง โดยครอบครัวรากุยังคงวิธีการเผาแบบดั้งเดิมมามากกว่า 400 ปี โดยใช้เตาเผา 2 เตาคือเตาหนึ่งสำหรับรากุสีแดงและอีกเตาสำหรับรากุสีดำ
การเคลือบเครื่องถ้วย ได้รับอิทธิพลมาจากภาชนะสามสีของจีนมีพื้นฐานเคลือบมีส่วนผสมของตะกั่ว แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ฟริต (Frit) แทน ในกรณีของเครื่องถ้วยรากุสีแดงนั้น สีแดงจะเกิดจากอิทธิพลของเหล็กในเนื้อดินระหว่างกระบวนการเผา ซึ่งส่วนประกอบหลักของเคลือบได้แก่ควอตซ์กับหินฟันม้าและฟริตที่เติมเข้าไปเพิ่มเพื่อควบคุมจุดหลอมละลายของเคลือบ จะมีผลทำให้เคลือบใสหรือขาวขุ่นและกึ่งใส ส่วนประกอบที่สำคัญของเคลือบรากุสีดำจะประกอบด้วยหินธรรมชาติซึ่งนำมาจากต้นน้ำในแม่น้ำคะโม เมืองเกียวโต
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเครื่องถ้วยรากุคือ เนื้อดินที่สืบทอดต่อรุ่นต่อรุ่น โดยครอบครัวรากุจะหาและอนุรักษ์แหล่งดินที่เหมาะสมสำหรับรุ่นต่อไปในอนาคต ในปัจจุบันคิชิชะเอะมอน รากุรุ่นที่ 15 ได้ใช้ดิน ซึ่งโคเนียว รากุรุ่นที่ 2 ผู้เป็นทวดของเขาจัดเตรียมไว้ให้และมีการอนุรักษ์แหล่งดินนี้ไว้มามากกว่า 100 ปี เนื้อดินจะค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นในแต่ละรุ่น ซึ่งไม่เฉพาะใช้เพียงรุ่นนั้นแต่เพื่อสงวนไว้สำหรับลูกหลานในรุ่นต่อต่อไป