เบญจรงค์ไม่ได้มี 5 สีมาตั้งแต่แรก

หลายคนพอได้ยินคำว่าเบญจรงค์ก็อาจจะเข้าใจว่า เป็นงานปั้นแบบไทยๆ ที่มี 5 สี อันนั้นรเราก็ไม่ว่าผิดนะคะ แต่ในความเป็นจริงเนี่ย แต่เริ่มเลยเบญจรงค์ไม่ได้มีสี 5 สีในชิ้นเดียวกันนะคะ แต่ว่า..ตกลงเริ่มต้นเนี่ยมีกี่สีกันละ??

เฉลยตรงนี้ว่า 3 สีเท่านั้น แถมในตอนแรกคือในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 เบญจรงค์ไม่ได้ผลิตในบ้านเรา แต่ส่งไปให้ช่างที่ประเทศจีนเป็นคนทำให้โดยใช้ลวดลายของไทย และมีช่างคนไทยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปควบคุมการผลิตอย่างใกล้ชิด

และอย่างที่เราบอกไปแล้วว่า เบญจรงค์นั้น ไม่ได้มี 5 สีมาตั้งแต่แรก แต่เครื่องเบญจรงค์ใช้สีวาดระบายเพียง 3 สี แล้วจึงพัฒนาให้มี 5 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียว ( คราม ) ดังนั้นชื่อที่เรียกว่า ‘เบญจรงค์’ จึงหมายถึงเครื่องเคลือบที่มีการวาดสีลงไป 5 สี
และแม้ว่ายุคนี้จะมีการใช้สีมากกว่า 30 สีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเรียกว่า เบญจรงค์อยู่เหมือนเดิม ซึ่งลวดลายที่นิยมกันมากบนเครื่องเบญจรงค์ก็คือ ลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ รวมตลอดถึงลวดลายดอกไม้ ลายสัตว์ และลวดลายจากเรื่องรามเกียรติ์ 

แต่นอกจากเครื่องเบญจรงค์แล้ว ยังมีเครื่องปั้นดินเผาอีกชนิดหนึ่งที่ทำเอาหลายคนอาจสับสนว่าเป็นเบญจรงค์หรือเปล่า นั่นคือ เครื่องถ้วยลายน้ำทอง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลายเหมือนเครื่องเบญจรงค์ แต่มีการแต้มสีทองหรือเขียนเส้นตัดสีทอง ระหว่างสีเบญจรงค์นั่นเอง ซึ่งเริ่มมีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 2 ค่ะ