เซรามิกคืออะไร ใครบอกที
หลายคนที่เมื่อนึกถึงคำว่า ‘เซรามิก’ จะนึกถึงจานชามแก้วที่มีสีขาว ผิวเนียบแวววาว แต่เคยรู้ไหมคะว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่า เซรามิกนั้นคืออะไร และกว่าที่ความแวววาวนั้นจะปรากฏ กว่าที่ความขาวบริสุทธิ์จะทำให้คุณสะดุดตา ผลิตยังไง และมาจากไหน วันนี้เรามาทำความรู้จัก ‘เซรามิก’ สักหน่อยค่ะ
“เซรามิก (ceramic)” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า keramos (อ่านว่า เครามอส) ซึ่งมีความหมายว่า วัสดุที่ผ่านการเผาด้วยความร้อน วัสดุที่เริ่มต้นจากสารอนินทรีย์มาประกอบกันเกิดปฏิกิริยาที่อุณหภูมิสูง เกิดการ Sintering (หลอมตัว) จนทำให้โครงสร้างผลึกเปลี่ยนไปจากเดิม
โดยคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของเซรามิกคือ มีจุดหลอมเหลวสูง (High melting point) มีความแข็ง (High hardness) ต้านทานต่อแรงกด (กระทำต่างๆ) ได้ดี สามารถรับน้ำหนักได้ และไม่เป็นตัวนำความร้อน (Low thermal conductivity) และไม่นำไฟฟ้าแต่มีข้อด้อยคือ มีความเปราะสูงมาก (Brittle) จึงส่งผลให้แตกง่าย
ในอดีตนั้นใช้ดินเหนียวในการทำเซรามิก และเรียกเซรามิกว่า ‘Chinaware’ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับชาวจีนซึ่งเป็นผู้คิดค้นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในยุคแรก ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนานำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย และถูกเรียกชื่อตามการใช้งานในเวลาต่อมา เช่น ถ้วยชาม , แก้ว , อิฐ , กระเบื้องเคลือบ เป็นต้น