เกิดอะไรขึ้นกับเนื้อดินขณะที่เผาดิบ
ขั้นตอนสำคัญของการทำชิ้นงานเซรามิกที่เคยเล่าไปแล้วคือการเผาดิบ แต่หลายคนยังสงสัยว่า ในการเผาดิบนั้น ขั้นตอนการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ในขณะที่กำลังเผาเป็นอย่างไร เรามีคำอธิบายง่ายๆ เป็นขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงมาเล่าให้ฟัง
- ขั้นแรก : น้ำที่เกาะอยู่นอกโมเลกุลจะระเหยออก > แม้จะตากชิ้นงานจนแห้ง แต่ก็ยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ การเผาดิบจะช่วยให้ความชื้นระเหยออกหมดในช่วงอุณหภูมิ 110-120 องศาเซลเซียส จนกลายเป็นเนื้อดินปั้นที่แห้งสนิท สีของดินจะเริ่มจางลง
- ขั้นที่ 2 : น้ำในโมเลกุลเกิดการแตกตัว > ในช่วงอุณหภูมิ 120-350 องศาเซลเซียส ผลึกของน้ำในโมเลกุลของดินจะเริ่มสลายตัวออก ในเนื้อดินจะเหลือเฉพาะออกไซด์ที่เป็นสารประกอบและอินทรีย์สาร การเผาช่วงอุณหภูมินี้ หากชิ้นงานมีความชื้นมากหรือปั้นหนาบางไม่เท่ากันจะเกิดการแตกร้าวหรือระเบิดได้
- ขั้นที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและกายภาพ > ในช่วงอุณหภูมิ 350-450 องศาเซลเซียส ผลึกของน้ำในโครงสร้างของดินจะเกิดการสลายตัวออกหมด ในการเผาช่วงนี้จึงต้องขึ้นอุณหภูมิเผาช้าๆ เพราะถ้าเร็วจะเร่งให้การแตกสลายตัวของน้ำในโมเลกุลเร็วโดยเฉพาะผิวหน้า เมื่อเกิดการหดตัวที่ผิวหน้ามาก ส่วนภายในหดตัวน้อยกว่าจะทำให้แตกร้าวได้
- ขั้นที่ 4 : ช่วงของการเผาไหม้ > ในอุณหภูมิช่วง 700 องศาเซลเซียส สารอินทรีย์จำพวกคาร์บอน และก๊าซซัลเฟอร์จะเกิดเผาไหม้ ทำเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์, คาร์บอนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์มอนนอกไซด์, ชัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ 900 องศาเซลเซียส แต่สารประกอบของซัลเฟอร์บางตัวจะเผาไหม้หมดจดจนกระทั่งอุณหภูมิ 1,100 – 1,150 องศาเซลเซียส