อ้อ สุทธิประภา ความลงตัวของคนปั้นและวัตถุดิบ

 

งานปั้นที่ว่าดีในความหมายที่คุณคิดคืออะไร? คนปั้นมีฝีมือหรือใช้วัตถุดิบที่ดี หรือสองสิ่งนี้ควรอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ลองมาฟังความคิดของ อ้อ สุทธิประภา ศิลปินและนักออกแบบเซรามิก ที่ Pottery Clay ชวนมาคุยวันนี้กันค่ะ

อ้อ สุทธิประภา เริ่มต้นงานปั้นด้วยความไม่สนใจงานปั้น เพราะความคิดแรกของเธอ งานปั้นคืองานที่เลอะเทอะ การเข้าไปเรียนภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีอยู่ 5 สาขาหลัก เซรามิกจึงแทบจะไม่อยู่ในสายตาของเธอเลยสักนิด กระทั่งได้พบกับ อาจารย์พิม สุทธิคำ ผู้ที่ไม่ได้สอนเซรามิกแค่ในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้นิสิตได้ลองทุกอย่างเท่าที่ในภาควิชาจะมีอุปกรณ์และวัตถุดิบให้

“ความคิดแรกเกี่ยวกับเซรามิกคือไม่เรียนเด็ดขาด อยากจะเรียน  interior แต่งตัวสวยๆ นั่งทำงานในห้องแอร์ แต่พอได้เจอกับอาจารย์พิมและลองทำงานปั้น พบว่าตัวเองติดใจและทำงานเซรามิกเรื่อยมา พอเรียนจบก็ยังได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของอาจารย์พิมในสตูดิโอของอาจารย์เอง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำงานประจำเป็นนักออกแบบเซรามิกให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยรับผิดชอบออกแบบงานเซรามิกและขึ้นไปอยู่ที่โรงปั้นที่นั่น สลับกับการลงมาทำงานที่กรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าสนุกที่ได้สัมผัสกับวัสดุ และวัตถุดิบในการทำงานจริง ความคิดที่กลัวเลอะเทอะไม่เหลืออยู่เลย งานเซรามิกสำหรับเราตั้งแต่ตอนนั้นคือ มีเรื่องให้ชวนติดตามตลอดเวลา ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นเสน่ห์ของงานเซรามิกที่เราตกหลุมรักโดยไม่รู้ตัวก็ได้”

 

งานเซรามิกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวและ 1+1 ไม่จำเป็นต้อง = 2

ถ้าคุณคิดว่า เคยปั้นชิ้นงานอะไรมาแล้ว ปั้นครั้งต่อไปก็เหมือนเดิม ขอบอกเลยว่า คุณคิดผิด เพราะงานเซรามิกนั้นมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ทำให้การทำงานที่คิดว่าจะได้หน้าตาแบบเดิม อาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป

“ในการทำงานเซรามิกแต่ละครั้ง ศิลปินไม่มีทางรู้ว่า 1+1 = 2 เสมอ เราทำได้เพียงการคาดเดาล่วงหน้าจากประสบการณ์ว่า เมื่อนำสิ่งนี้ผสมกับสิ่งนั้นน่าจะได้ประมาณนี้ ไม่มีทางบอกได้ 100% เลย ในการทำงานทุกครั้ง เราจึงจะพูดกับลูกค้าว่า มันจะเป็นประมาณนี้นะคะ เพราะงานเซรามิกจะต้องรอลุ้นหลังเผาเสมอ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ความแม่นยำจากประสบการณ์ และขณะเดียวกันคือ กลายเป็นความสนุกที่จะเล่นกับชิ้นงาน เป็นความสนุกที่มีความท้าทายอยู่ในนั้นเสมอสำหรับเรา

“การออกแบบงานเซรามิกเพื่อให้คนสร้างก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เจอ แต่ขณะเดียวกันมันทำให้เราค้นพบว่า เรายังมีอีกหลายอย่างที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องทางเชิงช่าง เพราะในตอนที่เรียน เราจะได้เรียนพื้นฐานงานเซรามิกเพื่อออกแบบ แต่เราไม่เคยได้เจาะลึกถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้สร้างงาน ส่งผลให้เวลาออกแบบก็เลยไม่ค่อยที่จะเข้าใจธรรมชาติของวัสดุจริงๆ กลายเป็นข้อจำกัดของการทำงาน นอกจากนี้เกิดความสงสัยทุกครั้งที่เราเห็นภาพของงานเซรามิกในหนังสือต่างประเทศ คำถามคือ เขาทำได้ยังไงกัน ทำไมเวลาเราพยายามทำถึงทำไม่ได้แบบนั้นบ้าง  ทำไมงานของต่างชาติถึงมีความละเอียดละออ มีเทคนิคที่เรารู้สึกว่ามันมีความล้ำมากกว่าความเป็นเซรามิกที่เรารู้จักในตอนนั้น งานเซรามิกของเขาไม่ได้มีแค่ถ้วยชาม แต่เป็นงานประติมากรรม ที่ทั้งบางทั้งโปร่งแสง เขาทำได้ยังไงทั้งๆ ที่เป็นงานเซรามิกเหมือนกัน

“พอคิดได้แบบนี้แล้วก็เลยรู้สึกว่า เราต้องทำงานเองหรือเปล่าเพื่อให้เราเข้าใจและได้งานที่ดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ออกแบบลงในกระดาษแล้วส่งให้คนอื่นทำโมเดลออกมา เหมือนเจอช่องว่างบางอย่าง และอยากออกไปหาคำตอบ”

ผลงาน The Cradle ที่ตึก  The Parq

ผลงาน "The Cradle" ที่ตึก  The Parq

ออกเดินทาง...หาคำตอบให้ได้รู้

 เมื่อไม่รู้ ก็ต้องหาคำตอบและต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง อ้อ สุทธิประภา จึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนด้านนี้โดยเฉพาะที่สวีเดน ประเทศที่สนับสนุนการศึกษาด้วยคำว่า เรียนฟรี

“เหตุผลที่เลือกไปที่สวีเดนเพราะเป็นประเทศที่ให้การศึกษาฟรี และประกอบกับอาจารย์ที่เราอยากเรียนด้วยก็อยู่ที่นั่น ตอนเรียนก็เป็นลักษณะของการเรียนแบบสองภาษา คือใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาสวีดิช แต่เพราะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติที่ต้องดูและสังเกตวิธีเอา การสื่อสารต่างภาษาก็เลยไม่ได้เป็นอุปสรรคเท่าไร แต่อย่างที่บอกว่า เรารู้สึกว่าเชิงช่างของเรายังชั่วโมงบินน้อยมาก ก็เลยตัดสินใจเรียนทุกอย่างที่เป็นพื้นฐานก่อน ซึ่งถ้าเทียบบ้านเราก็เป็นการเรียนสารพัดช่างแบบนั้นเลย ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสเจอศิลปินแห่งชาติของที่นั่น ซึ่งเป็นคนที่สอนทุกอย่างก็เลยได้รู้ว่าที่เราเห็นในหนังสือเขาทำกันอย่างไร

“พอก็จบออกมาได้ Certificate in Ceramic ที่ Capellagården- School of craft and design แล้วค่อยต่อปริญญาโท Applied Art, Ceramic ที่ Högskolan för Design och Konsthantverk ระหว่างที่เรียน ป .โทก็ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ไปด้วย พอเรียนจบก็เป็นผู้ช่วยศิลปินอีก 1 ปี จึงกลับมาเมืองไทยถาวร ซึ่งการกลับมาคือเรารู้สึกเหมือนเราได้วิชาเทพมาเลยนะ เพราะหลายๆ อย่างที่เราหาคำตอบก็ได้คำตอบสมใจ

“โดยเฉพาะความสงสัยที่ว่าทำไมเขาทำงานแบบที่เรารู้สึกทึ่งได้ แล้วทำไมที่เมืองไทยไม่ค่อยเห็น คำตอบที่ได้คือ วัสดุที่มีในประเทศไทยค่อนข้างจำกัด ขาดตัวเลือกที่ดีในการสร้างงาน เรื่องต่อมาคือ เราขาดความเข้าใจในเนื้อวัสดุหรือวัตถุดิบที่เราจะเอามาใช้ทำงานและเราไม่รู้เทคนิคที่เหมาะสมบางอย่าง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ แต่ให้ผลมากทีเดียว

“จริงๆ แล้วตอนที่อยู่ที่นั่น คิดว่าไม่ได้อยากกลับมา ก็เลยสมัครแสดงงานตามแกลอรี่ไว้ 2-3 ที่ และคิดว่าจะเปิดบริษัทซะด้วยซ้ำ แต่เมื่อดูเศรษฐกิจและเงินในกระเป๋าตัวเองแล้วคิดว่า เราสายป่านไม่ยาวขนาดนั้น ก็เลยกลับมาเมืองไทยและเปิดสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง ช่วงที่กลับมาเป็นยุคแรกๆของ craft trend ซึ่งเทรนด์ของการทำงานมือ เช่นงานไม้ งานผ้า งานเซรามิก กำลังมาแรงในบ้านเรา เราก็เลยโชคดี กลายเป็นคนแรกๆ ที่สื่อเมืองไทยจับตามอง ว่ามันมีผู้หญิงคนนี้กำลังทำสิ่งนี้อยู่นะ”

ผลงาน "GOOD"

งานบาง ลายเส้น สีน้ำเงินขาว

ถ้าถามว่างานของ อ้อ สุทธิประภา เป็นแบบไหน “งานบาง ลายเส้น สีน้ำเงินขาว” น่าจะเป็นคำตอบที่ตรงและชัดเจนที่สุด

“งานที่เรียกว่าเป็นลายเซ็นของเราได้เลยคือเรื่องของความบางที่เหมือนเป็นสิ่งที่เราเก็บกดความสงสัยมานานว่า ต่างชาติทำงานบางๆ ขนาดนั้นได้ยังไง แล้วความบางที่ว่ายังมาพร้อมรูปทรงที่สวยกริบ เมื่อเรารู้เทคนิค เลือกวัตถุมาสร้างงานที่เข้ากัน งานแบบที่เราหาคำตอบอยู่จึงเกิดขึ้นมา และเราได้ใส่ความชอบในเส้นสายเล็กๆ ลงไปในงานคู่กับสีน้ำเงินขาว จนกลายมาเป็น signature ของงานเราในที่สุด

“การสร้างงานในแบบที่ว่า ถือว่าเป็นความท้าทายของตัวเอง เพราะยิ่งทำงานบาง รูปทรงที่ท้าทายมากเท่าไหร่ นั่นคือสุดยอดสำหรับเรา และบอกให้เรารู้ว่า วัตถุดิบมันไปได้ไกลมากกว่าที่เราทำกันอยู่ ขอแค่มีเทคนิคที่ดี วัสดุจะส่งเสริมงานของคุณเอง หลายๆ คน พอรู้ว่าทำงานบางจะรู้สึกว่าเราไม่กลัวงานแตกหรือ สำหรับเรา งานแตกเป็นเรื่องปกติ เราก็จะไปให้สุด แตกก็แตกก็ทำใหม่ จริงๆ งานแตกสอนอะไรเยอะ ทำให้เข้าใจว่าธรรมชาติของวัสดุว่าที่แตกนั้น มันแตกเพราะอะไร เราฝืนอะไรเกินไปอยู่หรือเปล่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าวิธีการปั้นเท่านั้นที่ทำให้มันแตกหรือร้าว แต่มันคือวัสดุและเทคนิค เพราะทุกอย่างต้องไปด้วยกัน สำหรับเรา เปลี่ยนวัสดุทีนึงก็ต้องเรียนรู้ใหม่ทีนึงเพราะดินแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน”

 

ผลงาน "Let’s sway and see it goss"

คนปั้นและวัตถุดิบ เมื่อลงตัวทุกอย่างก็โอเค

แน่นอนว่า ศิลปินมักจะมีการแสดงงานของตัวเอง อ้อ สุทธิประภา ก็เป็นหนึ่งในนั้น หากแต่เธอไม่ได้มีงานแสดงเดี่ยวบ่อยนัก ด้วยเหตุผลว่า งานเซรามิกเป็นงานค่อนข้างใหญ่ ใช้เวลาสร้างงานค่อนข้างนาน และที่สำคัญ วัตถุดิบที่เธอเลือกใช้ ไม่ใช่ของที่มีขายทั่วไปในบ้านเรา

“ส่วนใหญ่เราจะใช้ดินพอร์ซเลน ซึ่งจะเป็นดินที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นบ้าง ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าที่ญี่ปุ่นมีดินประเภทนี้เป็นร้อยๆ พอมาดูดินที่ขายในไทย ถึงได้ทราบว่าดินที่มีคุณภาพค่อนข้างไม่ดีและราคาแพง ประจวบกับตอนนั้นคุณพิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของ Pottery Clay ได้นำดิน Snow White มาให้ทดลองใช้ดู แล้วค้นพบว่า ดินตัวนี้เข้ามือมากทีเดียว ทำงานแล้ว สามารถไว้วางใจได้ ทำให้ผลงานออกมาดีอย่างที่ตั้งใจ การทำงานก็ลื่นไหล เพราะไม่ต้องมาลุ้นว่ามันจะร้าวตอนไหน หรือลุ้นว่าว่าเผาแล้วจะรอดไหม งานเซรามิกก็มีของให้ลุ้นเยอะมากพออยู่แล้ว การมีดินสักตัวที่ทำงานเข้ามือเรา ก็ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้ดีทีเดียว

“นอกจากนี้ ที่นี่มีสินค้าที่ support คนที่ทำงานเซรามิกด้วยเทคนิคเชิงลึกและสายอาชีพ ซึ่งข้อดีคือเขาจะเข้ามาทำความรู้จักกับเราว่า เราใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร ใช้ดินแบบไหน และพยายามที่จะจัดหามาให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งเราในฐานะที่เป็นคนทำงานเซรามิกแล้วต้องใช้เครื่องมือที่ค่อนข้างเฉพาะ ถ้าไม่ได้ไปต่างประเทศเพื่อซื้อเอง มันค่อยข้างจะหายากได้ในบ้านเรา โชคดีที่นี่มี connection ในเรื่องนี้ค่อนข้างดี เขาสามารถหาสิ่งนี้ได้ ซึ่งมันตอบโจทย์สำหรับคนทำงานเซรามิกในเชิงศิลปะ สินค้าที่นำเข้ามาก็คือของจากต่างประเทศที่เอามาขายในประเทศไทย คุณภาพได้มาตราฐานเดียวกันกับที่เราไปซื้อมาจากต่างประเทศ”

“อุปกรณ์เซรามิกมีหลากหลายมาก บางอย่างมันเท่และดีมาก แล้วก็แพงมากด้วย แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์งานของเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ เช่น ที่ทำ slab เราไม่ได้ใช้ เพราะเทคนิคที่เราทำงานด้วยมันไม่ใช่งาน Slab แต่หากเป็นเรื่องเคลือบ เราผสมเคลือบเองก็หาวัตถุดิบที่เป็น Raw material จากที่นี่เพื่อเอามาผสมเคลือบเอง

“และอีกอย่างหนึ่งที่ชอบในแบรนด์นี้ คือความที่เราเป็นคนทำงานด้วยดินหลายประเภท Pottery Clay มีดินมากมายหลากหลายประเภทให้เลือก เราเลือกช้อปได้ตามประเภทงานที่ทำเลย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคือ มันทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยบินไปเอาเองถึงเมืองนอก ยิ่งช่วงนี้เดินทางไม่ได้ การซื้อผ่าน Pottery Clay เป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับศิลปินนักปั้นอย่างเรา

“แต่สำหรับคนที่อยากทำเซรามิกเพื่อที่จะสร้างเป็นอาชีพ ก็อยากแนะนำว่า ให้เรียนรู้พื้นฐานงานเซรามิกให้แน่นๆ เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพื้นฐานจะเชื่อมโยงไปถึงว่า ต้องเตรียมวัตถุดิบยังไง ลองเคลือบแบบไหน เก็บวัสดุยังไง จัดการเครื่องมืออย่างไร เมื่อพื้นฐานแน่นก็จะรู้เองว่าเทคนิคที่คุณอยากทำงานต่อคืออะไร แล้วทีนี้มันก็จะแคบลงเรื่อยๆ ว่าอะไรที่เราจำเป็นต้องใช้ และเครื่องมืออะไรที่เหมาะกับงานของเรา ทุกๆ อย่างจะแคบลง แล้วคุณก็จะเจอเส้นทางการทำงานเซรามิกที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ”

สำหรับ อ้อ สุทธิประภา เธออาจจะเจอรูปแบบงานเซรามิกในแบบที่ชอบแล้วในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เธอจะหยุดแต่เพียงเท่านี้ เพราะงานเซรามิกไม่อาจคาดเดาได้ และวัตถุในการสร้างงานปั้นก็ยังไปต่อได้อีกเป็นร้อยเป็นพันอย่าง ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เธอไม่ได้มองงานเซรามิกเป็นสิ่งที่จะพาเธอโด่งดัง แต่งานเซรามิกให้แง่คิด และมุมมองในการทำงาน การใช้ชีวิตกับเธอมากกว่าที่คิด ขอเพียงได้เจอความลงตัวของคนปั้นและวัตถุดิบคุณก็จะค้นพบความเป็นที่สุดในงาเซรามิกได้ไม่ยากเช่นเดียวกับเธอ