อะไรบ้างที่ต้องควบคุมในการเผาเตาเชื้อเพลิงแก๊ส
เนื่องจากขั้นตอนการเผาชิ้นงานเซรามิก คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตเซรามิก ซึ่งเดิมทีเรานิยมใช้ไม้และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีมากและราคาถูก แต่เมื่อราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวขยับตัวสูงขึ้น เตาเผาเซรามิกในปัจจุบันจึงหันมาใช้เชื้อเพลิงประเภทแก๊สหุงต้มและแก๊สธรรมชาติมากขึ้น
ลองมาดูกันหน่อยว่า ถ้าต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ เพื่อจะได้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยและตรงใจ นักปั้นจะต้องรู้จักการควบคุมเตาเผาประเภทนี้อย่างไรบ้าง
รู้จักควบคุมอุณหภูมิภายในเตาเผา (Kiln Temperature Control) >>> โดยทั่วไปจะใช้วัดด้วยเทอร์โมคอปเปิล (Thermo-Couple) และเปรียบเทียบกับค่าที่ตั้งไว้ในระยะเวลาการเผา (set point) ตามตารางการเผาแต่ละครั้งว่ามีความคงที่หรือไม่ และไม่ควรวัดจากอุณหภูมิหรือความดันแก๊สที่ใช้เท่านั้น ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิการเผาให้คงที่ทุกครั้งขึ้นอยู่กับเรื่องต่อไปนี้
1) การจัดวางตำแหน่งของชิ้นงานบนรถเผาคงที่
2) ระบบการให้ความร้อนคงที่ตามกราฟเดิม
3) เทอร์โมคอปเปิลที่ใช้วัดอุณหภูมิในเตาเผาทำงานถูกต้อง โดยจะต้องมีการสอบเทียบมาตรฐานการทำงานของเครื่อง (calibrate) เป็นประจำทุกปี
4) การวางตำแหน่งเทอร์โมคอปเปิลไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับหัวพ่น หรือฝังอยู่ในฉนวนกันความร้อน ต้องยื่นออกมา 3 นิ้ว จากผนังหรือหลังคาเตา
รู้จักการควบคุมบรรยากาศในการเผา (Kiln Atmostphere Control) >>> การเผาเตาแต่ละครั้งควรติดตั้งวาล์วสำหรับวัดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการเผา เพื่อคำนวณหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของเชื้อเพลิงกับอากาศ ถ้ามีอากาศส่วนเกินมากไป ความร้อนที่ได้จะน้อย แต่ถ้าอากาศส่วนเกินน้อยไป เคลือบจะไม่มันวาว ทั้งนี้ข้อมูลของอัตราส่วนเชื้อเพลิงต่ออากาศจะนำมาใช้ปรับอัตราส่วนที่หัวพ่น ทำให้เกิดความเหมาะสมระหว่าง พลังงานความร้อนที่ให้กับอากาศส่วนเกินที่เหลือหรือระดับออกซิเจนภายในเตาเผา
รู้จักการควบคุมความดันภายในเตาเผา (Kiln Pressure Control) >>> ‘มานอมิเตอร์ (manometer) แบบของเหลว’ คืออุปกรณ์สำหรับวัดค่าความดันในเตาเผาที่ใช้งานได้สะดวกและมีราคาถูก โดยควรใช้ในช่วงวัดความดันระหว่าง 2-3 มม.น้ำ (Wg) และตำแหน่งในการวัดความดันของเตาควรอยู่ในจุดที่มีค่าความดันต่ำสุด เช่น บริเวณกลางประตูเตาด้านล่างบริเวณเหนือรถเตาเล็กน้อย หรือบริเวณรอยต่อของแท่งโรลเลอร์ในเตาโรลเลอร์ที่เผา 24 ชั่วโมง หรือใช้ช่องเดียวกันกับช่องวัดออกซิเจน เป็นต้น