สารพัดชนิดของเคลือบในงานปั้นเซรามิก

ในการทำงานเซรามิกนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนเทคนิคที่ทำให้ชิ้นงานออกมาสวยงามและมีความแตกต่างอย่างโดดเด่นคือ การใช้เคลือบมาช่วยเพิ่มรายละเอียด ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด วันนี้ Pottery Clay จึงนำมาสรุปแล้วบอกต่อ จากนั้น นักปั้นก็เลือกใช้ตามชอบได้เลย

เคลือบใส (Clear Glazes/ Transparent Glazes)

คือ เคลือบที่ใช้เคลือบผลิตภัณฑ์แล้วทำหน้าที่เป็นเพียงแก้วใสฉาบติดที่ผิวของผลิตภัณฑ์มีลักษณะโปร่งใสจนมองเห็นสีของเนื้อดินหรือสีที่ตกแต่งอยู่บนผิวของเนื้อดินได้อย่างชัดเจน นิยมใช้เคลือบผลิตภัณฑ์ที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนสีใต้เคลือบหรือผลิตภัณฑ์ที่ตกแต่งด้วยน้ำดินสี โดยเคลือบใสทำหน้าที่เหมือนแก้วบางใสเนื้อบางที่ฉาบบนผิวของผลิตภัณฑ์ อาจมีสีหรือไม่มีก็ได้

แต่ถ้าเป็นการเคลือบใสที่มีสีนิยมใช้เคลือบทับบนภาชนะที่ตกแต่งด้วยวิธีการขูดขีดหรือการแกะลวดลาย เพื่อให้ลวดลายที่แกะไว้ปรากฏเป็นลวดลายที่สวยงามและชัดเจน นอกจากนี้เคลือบใสยังสามารถทำได้ทุกระดับอุณหภูมิตามแต่สูตรส่วนผสมที่ใช้ในการทำเคลือบนั้นๆ อีกด้วย

เคลือบทึบ (Opaque Glazes)

คือ เคลือบที่สามารถปิดบังผิวของเนื้อดินปั้นไว้ได้หมด นิยมใช้กับผลิตภัณฑ์ประเภทสโตนแวร์ที่ไม่ต้องการให้เห็นสีของเนื้อดิน ความทึบของเคลือบเกิดจากวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมของเคลือบมีความสามารถในการดูดซับแสงไว้ไม่ยอมให้แสงทะลุผ่านผิวเคลือบไปได้ทำให้เคลือบจนมองไม่เห็นสีของเนื้อดินปั้น โดยเรียกสารพวกนี้ว่า สารทึบแสง ได้แก่ ดีบุกออกไซด์ พลวงออกไซด์ โครเมียมออกไซด์ ซิงก์ออกไซด์และเซอร์โคเนียมออกไซด์ เป็นต้น

เคลือบประกายมุก (Luster Glazes)

คือ เคลือบที่มีความมันวาว ส่องประกายคล้ายผิวของเปลือกหอยมุกด้านใน โดยมีส่วนผสมสำคัญคือ ตะกั่วที่ช่วยให้เกิดการหลอมละลายที่ดีและทำให้ผิวเคลือบมีความมันวาว จึงเหมาะสำหรับใช้เคลือบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตกแต่งเพื่อความสวยงามเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เคลือบภาชนะบรรจุอาหารเด็ดขาด

ทั้งนี้ ในการใช้เคลือบประกายมุก นักปั้นต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเคลือบมีการไหลตัวมาก จึงอาจทำความเสียหายต่อชิ้นงานและแผ่นรองชิ้นงานภายในเตาเผาได้ โดยเคลือบประกายมุกที่ใช้โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบคือ

  1. แบบที่เป็นน้ำเคลือบ เผาที่ระดับอุณหภูมิ  1,180-1,200 °C
  2. แบบที่มีลักษณะเหมือนสีบนเคลือบที่เรียกว่า สีประกายมุก’  ที่ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปเคลือบขาวหรือเคลือบใสและเผาในอุณหภูมิ 1,200-1,230 °C แล้วนำมาฉาบทับด้วยสีประกายมุก และเผาอีกครั้งที่อุณหภูมิ 750 °C เหมือนการเผาตกแต่งสีบนเคลือบ

เคลือบไฟสูง (High Fire Glazes)

คือ เคลือบที่เผาในอุณหภูมิประมาณ 1,230 – 1,460 °C โดยมีหินฟันม้าและหินปูนเป็นวัตถุดิบหลักที่ช่วยหลอมละลายในเคลือบ ประกอบกับซิลิกาและดินขาว นิยมใช้เคลือบผลิตภัณฑ์ประเภทพอร์สเลนและสโตนแวร์ โดยผิวเคลือบมีความแข็งแกร่ง ทนต่อการขีดข่วน การกัดกร่อนของกรดและด่างได้ดีมาก และยังเผาได้ทั้งบรรยากาศออกซิเดชันและรีดักชัน

เคลือบไฟปานกลาง (Intermediate Fire Glazes)

ใช้เคลือบผลิตภัณฑ์เอิร์ธเธินแวร์ โบนไชน่าและสโตนแวร์ ผิวเคลือบจะมีความแข็งแกร่งน้อยกว่าเคลือบไฟสูง แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเผาลงและทำเคลือบสีสดๆ ได้ โดยนิยมเคลือบงานประเภทเครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ตกแต่ง เป็นต้น หากเคลือบในอุณหภูมิระหว่าง 1,180-1,200 °C จะใช้ฟริตเป็นส่วนผสมที่ช่วยหลอมละลายในสูตรเคลือบ แต่หากเคลือบในอุณหภูมิ 1,200-1,230 °C นิยมใช้วัตถุดิบกลุ่มด่างเป็นตัวช่วยหลอมละลายผสมในสูตรเคลือบมากกว่า 3 ชนิดขึ้นไป จะช่วยให้เคลือบหลอมละลายได้ดี

เคลือบดิบ (Raw glazes)

เป็นเคลือบที่ใช้วัตถุดิบที่เตรียมจากสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เฟลด์สปาร์, ซิลิกาและหินปูน เป็นต้น โดยสามารถนำมาผสมเป็นเคลือบได้เลย โดยไม่ต้องนำไปทำฟริตก่อน

เคลือบบริสตอล (Bristol Glazes)

เป็นเคลือบที่เกิดจากความพยายามในการลดระดับอุณหภูมิการสุกตัวของเคลือบพอร์สเลนให้ต่ำลงและยังคงความแข็งแกร่งของเคลือบโดยใช้ซิงค์ออกไซด์เป็นตัวช่วยหลอมละลายที่สำคัญมาแทนที่แคลเซียมออกไซด์ ทำให้เคลือบมีการไหลตัวดี มีสีสันสดใส ส่วนมากใช้เคลือบเพื่อปิดบังสีผิวของเนื้อดิน แต่ถ้าใช้ใช้ซิงค์ออกไซด์มากเกินไป จะทำให้เคลือบทึบแสงมีสีขาวและมีความเป็นมันเงา

เคลือบไฟต่ำ (Low Fire Glazes)

เป็นเคลือบที่เผาในอุณหภูมิต่ำกว่า 1,100 °C  ส่วนมากมีสารตะกั่วหรือบอแรกซ์เป็นส่วนผสมหลักที่เป็นตัวช่วยหลอมละลายในเคลือบผิวเคลือบมักมีการราน เนื่องจากเนื้อดินเผาไหม้ถึงจุดสุกตัว เคลือบมีความแข็งน้อยทำให้ไม่คงทนต่อการขีดข่วนและการกัดกร่อนของกรดและด่าง มีความแวววาวสูง มีสีสันสดใสและมีช่วงอุณหภูมิในการเผาจำกัด ถ้าเผาเกินอุณหภูมิเคลือบจะไหลตัวมาก จนเกิดความเสียหายได้ นิยมใช้เคลือบกระเบื้องมุงหลังคา งานศิลปะและงานรากุ เป็นต้น ไม่ควรนำมาใช้เคลือบภาชนะบรรจุอาหาร เพราะรอยรานของเคลือบจะเป็นที่หมักหมมของเศษอาหาร

เคลือบด้าน (Matt Glazes)

เป็นเคลือบที่มีลักษณะพื้นผิวด้านเรียบ ผิวเคลือบจะไม่มีความมันเงา และไม่สะท้อนแสง หรือพื้นผิวเคลือบกึ่งด้านกึ่งมันที่ผิวเคลือบมีความวาวเล็กน้อยหรือเคลือบด้านที่มีผิวพื้นผิวหยาบ โดยเคลือบได้สามารถเผาได้ในทุกระดับอุณหภูมิและสามารถทำให้ผิวเคลือบด้านได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

  1. เคลือบด้านที่เกิดจากการเติมสารอลูมินาลงในเคลือบ เรียกว่า “เคลือบอลูมินาแมท”
  2. เคลือบด้านที่เกิดจากการแทน Flux ด้วยแบเรียมคาร์บอเนต เรียกว่า “เคลือบแบเรียมแมท”
  3. เคลือบด้านที่เกิดจากการใช้สารบางตัวในปริมาณมากกว่าปกติแล้วเผาให้เคลือบเย็นตัวลงอย่างช้าๆ
  4. เคลือบด้านที่เกิดจากการใช้เซอร์โคเนียมซิลิเกต 10-15% ร่วมกับทัลคัม 8-15 % ในสูตรเคลือบ เพื่อช่วยเร่งให้เคลือบตกผลึกเป็นเม็ดละเอียดบนผิวเคลือบ
  5. เคลือบด้านที่เกิดจากการใช้แมกนีเซียมคาร์บอเนตผสมในเคลือบ 15-20% ทำให้เคลือบมีผิวด้าน เนื่องจากแมกนีเซียมคาร์บอเนตมีความทนไฟสูง

เคลือบผลึก (Crystalline Glazes)

เกิดจากการตกผลึกของสารบางตัวที่แยกออกมาให้เห็นได้ และมีลักษณะเป็นดอกดวงขนาดใหญ่หรือเป็นจุดเล็กๆ หรือเป็นเส้นคล้ายเข็มซ้อนกันอยู่ในหรือบนผิวเคลือบ ทั้งนี้การตกผลึกของเคลือบเกิดขึ้นได้เมื่อทำให้เคลือบเย็นตัวลงในภาวะที่มีการควบคุมเป็นพิเศษ โดยวัตถุดิบที่เป็นตัวทำให้เกิดการตกผลึก ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์และไทเทเนียมไดออกไซด์ ประกอบกับช่วงเวลาในการตกผลึกและช่วงเวลาในการเย็นตัวของเคลือบผลึก โดยสามารถแยกออกตามลักษณะของผลึกได้ดังนี้

  1. เคลือบผลิตที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยเปล่า เนื่องจากผลึกที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กมากแต่เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นจนทำให้การมองด้วยตาเปล่าปรากฏเห็นเป็นพื้นผิวที่มีลักษณะด้านหรือกึ่งด้านกึ่งมัน เรียกอย่างหนึ่งว่าเคลือบด้าน
  2. เคลือบผลึกที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นผลึกที่เกิดขึ้นภายในเคลือบหรือผิวเคลือบ ได้แก่ เคลือบอะเวนทิวริน (Aventurine Glazes) หรือเคลือบทรายทอง ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะของผลึกจะมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ ที่เรียกว่าอยู่ภายในผิวเคลือบหรืออาจมีขนาดเล็กและจำนวนมากที่วางซ้อนกันอยู่