ปัญหาเซรามิกแตกร้าวใครๆ ก็ไม่อยากเจอ
นักปั้นทั้งหลายคงเข้าใจดีว่ากว่าจะผลิตชิ้นงานออกมาได้สักชิ้นแสนยากลำบาก แต่พอเผาเสร็จออกมา ดันแตกร้าวซะนี่ อย่างนี้ต้องเข้าใจสาเหตุจะได้ป้องกันได้ถูกจุด
ปัญหาเซรามิกแตกร้าวเกิดขึ้นได้ทั้งช่วงก่อนเผาและหลังเผา ซึ่งรอยร้าวก็จะแตกต่างกันไป โดยรอยร้าวก่อนเผาจะมีความมนมากกว่า เนื่องจากเมื่อผ่านอุณหภูมิสูงทั้งเคลือบและเนื้อดินจะเกิดการหลอมตัวทำให้แผลของรอยร้าวจะไม่คมมากนัก ผิดกับรอยร้าวหลังการเผาที่ผ่านช่วงอุณหภูมิสูงสุดไปแล้ว เมื่อเย็นตัวและมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง รอยร้าวจะมีความคมมาก
ทั้งนี้รอยร้าวก่อนเผาเกิดได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมเนื้อดิน, ขึ้นรูป, รอบแห้ง, การเคลื่อนที่ในระหว่างการเคลือบ รวมถึงช่วง pre-heating ของการเผา แต่รอยร้าวหลังเผาในช่วง cooling นั้นเกิดจากการเผาที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะในช่วง Quartz inversion
- การร้าวจากวัตถุดิบ วัตถุดิบที่นำมาทำเซรามิกแบ่งได้เป็นวัตถุดิบที่มีความเหนียว (Plastic materials) และไม่มีความเหนียว (Non plastic materials) ในการทำเนื้อดินที่ดีจึงต้องคำนวณสัดส่วนของทั้งสองในปริมาณที่เหมาะสมกับกระบวนการขึ้นรูปและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์หลังเผา
- การร้าวจากสูตรเนื้อดิน นักปั้นคำนวณสูตรเนื้อดินผิดพลาดตั้งแต่แรก โอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องร้าวก็จะมีมากขึ้นได้
- การร้าวจากการเตรียมวัตถุดิบ แม้จะคำนวณสูตรมาอย่างดี แต่หากในการเตรียมเนื้อดินไม่ตรวจสอบสัดส่วนของทั้งดินและน้ำให้เป็นไปตามสูตรเป๊ะๆ ก่อนนำมาผสมกัน หรือนวดผสมกันไม่ดี สูตรที่คิดมาแล้วอย่างดีก็อาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ
- การร้าวจากการขึ้นรูปด้วยการอัด การขึ้นรูปด้วยการอัดต้องมีแรงอัดสูง เพื่อที่จะอัดให้ผงดินที่มีความชื้นต่ำสามารถคงรูปและมีความแข็งแรงดิบพอสมควร ดังนั้นเมื่อชิ้นงานดิบถูกดันออกมาจากแบบก็จะมีการขยายตัวในทุกทิศทาง ซึ่งทำให้โอกาสในการร้าวเกิดขึ้นได้ในระหว่างนี้ นอกจากนี้ถ้าผงดินที่นำมาอัดมีค่าความชื้นต่ำหรือการกระจายตัวของเม็ดดินไม่ดีพอก็ทำให้เกิดรอยร้าวได้เช่นกัน
นอกจากนี้รอยร้าวยังอาจเกิดขึ้นจากการเคลือบและการตกแต่ง รวมถึงการเผา จึงทำให้นักปั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมมากมายเสมอ เช่นน้ำหนักของเคลือบ ความหนาบางของชิ้นงาน ความชื้น ระยะเวลา ฯลฯ ดังนั้นนักปั้นจึงควรทำความเข้าในสาเหตุของการเกิดรอยร้าวให้ดี เพื่อควบคุมทุกกระบวนการให้อยู่ในมาตรฐาน เพื่อจะได้ชิ้นงานที่สวยงามสมความตั้งใจ